การพัฒนาไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเรื่องอะไร หากประสงค์ที่จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย จะต้องมีการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
การพัฒนาตนก็เช่นกัน ในการพัฒนาจะต้องดำเนินการอย่างมีขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 วิเคราะห์ตน ในการพัฒนาตน บุคคลจะต้องเริ่มด้วยการรู้จักตนเองเสียก่อน จะต้องค้นหาเอกลักษณ์ของตนเองให้พบ แล้วยอมรับตนตามสภาพความเป็นจริงนั้น นอกจากจะรู้จักตนเองตามความเป็นจริงแล้ว ผู้พัฒนาตนจะต้องรู้สถานภาพของตนว่า ตนมีตำแหน่งเป็นอะไร เช่นเป็นลูก เป็นนักเรียนนักศึกษา เป็นพี่หรือเป็นน้อง แล้วจะต้องวิเคราะห์ต่อไปว่า ตนได้แสดงบทบาทสอดคล้องกับสถานภาพเพียงใดหรือไม่ เช่น ตนมีสถานภาพเป็นลูก ก็ต้องวิเคราะห์ต่อไปว่าตนเป็นลูกที่ดีหรือไม่ ปฏิบัติตนสมกับที่เป็นลูกหรือไม่
การวิเคราะห์ตนอาจเริ่มด้วยการศึกษาและประเมินตน เพื่อทราบถึงรูปร่างหน้าตา สุขภาพ สติปัญญา ความสามารถพิเศษ ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนกิริยาท่าทาง
การวิเคราห์ตนเป็นขั้นของการทำความรู้จักกับตนเอง ถ้ารู้จักตนเองแบบผิดๆ ก็ไม่สามารถพัฒนาตนเองได้ เช่น ตนเองเป็นคนขี้เกียจ แต่เข้าใจว่าตนเป็นคนขยัน การพัฒนาเพื่อให้เป็นคนขยันก็เกิดขึ้นไม่ได้
ขั้นที่ 2 วางแผนเพื่อการพัฒนาตน ขั้นนี้เป็นขั้นที่นำผลที่ได้จากการวิเคราะห์ตน มาวางแผนเพื่อการพัฒนาตน เช่น จากการวิเคราะห์พบว่า เป็นบุคคลที่ชอบเล่นเกมส์มากกว่าอ่านหนังสือเรียน ก็นำผลที่ได้มาวางแผนพัฒนาตน ให้เป็นคนอ่านหนังสือเรียนมากกว่าเล่นเกมส์ เป็นต้น
การวางแผนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาตน เพราะจะช่วยให้ทราบแนวทาง วิธีการและเป้าหมายของการพัฒนาที่ชัดเจน การพัฒนาตนที่ขาดการวางแผน จะทำให้การพัฒนาดำเนินไปโดยขาดทิศทาง และอาจประสบความล้มเหลวในที่สุด
ขั้นที่ 3 พัฒนาตน ในการพัฒนาตนอาจจำแนกเป็น 2 ด้าน คือ
การพัฒนาตนด้านรูปธรรม คือพัฒนาในส่วนที่สามารถสัมผัสได้ด้วยอวัยวะสัมผัส เช่น การพัฒนาการแต่งกาย กิริยามรรยาท ฯลฯ ซึ่งทำได้ด้วยการฝึกฝนทั้งกายวาจา ท่าทาง ตามแผนที่วางไว้ในขั้นที่ 2 อย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย
การพัฒนาตนด้านนามธรรม เป็นการพัฒนาด้านจิตใจ ให้เป็นคนมีจิตใจดี มีปัญญา มีหูตากว้างไกล ทันกับการเปลี่ยนแปลง
ขั้นตอนการดังที่กล่าวมานี้ จะต้องทำให้ครบทั้ง 3 ขั้นตอน จะขาดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งมิได้ มิฉะนั้น การพัฒนาตนจะไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
---------------------------------------------------------
สาระคำ
การรู้คุณค่าแห่งตน (Self-esteem) หมายถึง ความเชื่่อมั่นและความพอใจตนเอง เป็นความรู้สึกหรือความคิดเห็นเกี่ยวกับตนในเชิงบวกหรือเชิงลบ
------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น