วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

หน้าที่ทางเศรษฐกิจเป็นหน้าที่อันจำเป็นของสังคม  เป็นหน้าที่ที่สังคมจะต้องจัดให้มีขึ้น เพื่อความอยู่รอดของสังคม  หากสังคมใดไม่จัดให้มี  หรือไม่สนใจหน้าที่ทางเศรษฐกิจเท่าที่ควร  สังคมนั้นก็จะเสื่อมสลาย เพราะสมาชิกในสังคมไม่มีกินไม่มีใช้ หรือมีแต่ไม่เพียงพอกับความต้องการที่จำเป็น
  
กิจกรรมทางเศรษฐกิจ จึงเป็นกิจกรรมที่สังคมต้องจัดให้มีขึ้น  เพื่่อสนองความต้องการของสมาชิกในสังคม  และยังเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ในสังคมอีกด้วย

เศรษฐกิจและสังคมจึงมีอิทธิพลซึ่่งกันและกัน  กล่าวคือ  เมื่อใดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม คือเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างและหน้าที่ของสังคม  จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจตามไปด้วย  ในขณะเดียวกัน เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำก็เป็นเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนายังพบอีกว่า ความแตกต่างของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา ก็เกิดมาจากความแตกต่างของแบบแผนทางสังคมที่แตกต่างกันเป็นส่วนใหญ่

แบบแผนทางสังคมที่ปรากฏอยู่ในประเทศด้อยพัฒนามักจะไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  กล่าวคือ จะมีความคิด ความเชื่อ และค่านิยม หรือมีวัฒนธรรมที่ไม่กระตุ้นให้คนทำงานหนัก มีการเสี่ยงในการลงทุน ตลอดจน ไม่กระตุ้นให้เกิดการอดออม

จึงสามารถสรุปได้ว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็ดี การพัฒนาเศรษฐกิจ ก็ดี มีผลมาจากความพยายามของสมาชิกในสังคม ส่วนสมาชิกจะมีความพยายามมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของสมาชิกในสังคมนั้น  ว่าเป็นอุปสรรคหรือส่งเสริมการพัฒนา

ดังนั้น การพัฒนาตามแนวความคิดใหม่ จึงมุ่งที่การปรับปรุงชีวิตมนุษย์ให้ดีขึ้นทุกๆด้าน หรืออย่างน้อยจะต้องดีขึ้นใน 3 ด้านใหญ่ๆต่อไปนี้ คืิอ

          1. มีสิ่งสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของชีวิตอย่างเพียงพอ  ซึ่งได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ตลอดจนบริการทางการแพทย์และสาธารณะสุข

          2. มีเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  อันเกิดจากการมีการศึกษาและการมีงานทำ รวมทั้งมีสถานภาพเป็นที่ยอมรับของสังคม

          3. มีเสรีภาพทางสังคมในด้านต่างๆ เช่น เสรีภาพในการเลือกประกอบอาชีพ การเลือกถิ่นที่อยู่ และการเลือกบริโภค เป็นต้น

นั่นคือ ถ้าจะศึกษาเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมให้เข้าใจได้ดีขึ้น จำเป็นจะต้องศึกษาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมไปพร้อมๆกัน  ในขณะเดียวหากต้องการพัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน จะต้องพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วย
                                                 -------------------------------------

                                                                       สาระคำ

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  หมายถึง การเพิ่มผลผลิต ปัจจัยการผลิต และประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งเป็นผลมาจาก  การเพิ่มการสะสมทุน กำลังแรงงาน  และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในระบบเศรษฐกิจ
                                                              --------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น